วันที่ 20 ธ.ค. 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวสุดเศร้าของ บีอานดริ บอยเซ็น ดาว ติ๊กต็อก ชาวแอฟริกาใต้ ว่า เธอเสียชีวิตแล้วในวัย 19 ปี หลังจากป่วยด้วยโรคโปรเจเรีย (Progeria) หรือโรคแก่ก่อนวัยมาตั้งแต่เล็ก
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา เบีย บอยเซ็น แม่ของ บีอานดริ บอยเซ็น ได้ยืนยันข่าวมรณกรรมของลูกสาวในโพสต์บนเฟซบุ๊กของเธอ พร้อมข้อความระบุว่า ด้วยรักและอาลัยถึง บีอานดริ บอยเซ็น ส่วนในกลุ่มเฟซบุ๊กซึ่งมีชื่อว่า Beandri, Our Inspiration ซึ่งสร้างขึ้นโดยครอบครัวของบอยเซ็นเมื่อ 15 ปีก่อน เบียก็โพสต์ข้อความแจ้งข่าวว่า เราขอแจ้งข่าวเศร้าอย่างสุดซึ้งถึงการจากไปของบีอานดริ หนึ่งในหญิงสาวที่เป็นที่รักและให้แรงบันดาลใจมากที่สุดคนหนึ่งของแอฟริกาใต้
เบียเน้นถึงผลกระทบที่เกิดจากตัวบีอานดริ ว่า แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทาย แต่ บีอานดริก็ยังคงเปล่งประกายแห่งความหวังและความสุขในชีวิต เธอเป็นทั้งกระบอกเสียงและสัญลักษณ์ของความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคโปรเจเรียและผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหมื่นด้วยจิตวิญญาณอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ
เบียระบุว่า บีอานดริคือผู้ป่วยโรคโปรเจเรียที่รอดชีวิตคนสุดท้ายในแอฟริกาใต้ โรคนี้มีชื่อเต็ม ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากลุ่มอาการโปรเกเรียของฮัทชินสัน-กิลฟอร์ด (Hutchinson-Gilford progeria syndrome) หรือ HGPS
นอกจากนี้ เบียยังโพสต์คลิปวิดีโออาลัยถึงบีอานดริบนพื้นที่ ติ๊กต็อก ของเธอ ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 278,000 คน โพสต์ของบีอานดรี มักได้รับคำชื่นชม โดยแฟนๆ ต่างยอมรับในความอดทนและความมองโลกในแง่ดีของเธอ ก่อนหน้านี้ บีอานดริได้รับการผ่าตัดหัวใจเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2567 โดยเธอได้โพสต์ขอบคุณแฟนๆ สำหรับคำอวยพรให้หายป่วย ต่อมา เบียก็เปิดเผยว่า หัวใจของบีอานดริหยุดเต้นแล้ว ทำให้แฟนคลับและผู้ติดตามของเธอต่างพากันเข้ามาแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของเธออย่างล้นหลาม
จากข้อมูลถึงเดือน ก.ย. 2567 มูลนิธิวิจัยโปรเจเรียระบุว่า มีเด็ก 17 คน ที่เป็นโรค HGPS ในสหรัฐอเมริกา สะท้อนอัตราการป่วยโดยเฉลี่ยคือ 1 ใน 20 ล้านคน
เด็กที่เป็นโรคโปรเจเรียโดยทั่วไป จะดูแข็งแรงตั้งแต่แรกเกิด แต่จะเริ่มแสดงอาการของการแก่ก่อนวัยอย่างรวดเร็วภายในสองขวบปีแรกของชีวิต อาการต่างๆ ได้แก่ การเจริญเติบโตล่าช้า ไขมันในร่างกายและผมลดลง ผิวหนังดูแก่กว่าวัย ข้อต่อแข็ง ขาดความยืดหยุ่น มีภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดและหัวใจ แต่พัฒนาการทางสติปัญญามักไม่ได้รับผลกระทบ
อายุขัยเฉลี่ยของผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่ที่ 14-15 ปี โดยส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายสามารถมีอายุยืนยาวถึงวัย 20 ปีเศษ
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคโปรเจเรีย แม้จะมีพัฒนาการในการรักษาและค้นพบยาโลนาฟาร์นิบที่ช่วยชะลอโรคและยืดอายุผู้ป่วยได้